ฉีดยากระตุ้นไข่ กับ กินยากระตุ้นไข่แบบไหนดีกว่ากัน?
ฉีดยากระตุ้นไข่ กับ กินยากระตุ้นไข่แบบไหนดีกว่ากัน?
การจะฉีดยาหรือกินยากระตุ้นไข่นั้น ต่างมีดีทั้ง2 วิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง การกระตุ้นไข่เป็นวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากวิธีหนึ่ง ซึ่งจุดประสงค์ในการกระตุ้นไข่นั้นขึ้นอยู่กับวิธีที่จะทำการรักษาภาวะมีบุตรยาก และก็มีโรคบางชนิดที่ต้องอาศัยการกระตุ้นไข่ เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ไข่นั้นโตเป็นปกติและไข่ตกได้ตามเวลาที่เหมาะสม แต่ในบางกรณี เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว ก็อาจมีความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นไข่เพื่อให้ได้จำนวนไข่ที่มากกว่าการโตโดยธรรมชาติเรียกว่า Controlled Ovarian Hyperstimulation หรือ COH ซึ่งไข่ที่ได้นั้นก็จะนำมาทำการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย ก็จะแตกต่างจากวิธีธรรมชาติโดยทั่วไป สำหรับภาวะที่ต้องทำการรักษาด้วยการกระตุ้นไข่ ได้แก่สตรีที่มีภาวะไข่ไม่ตก (Anovulation) ซึ่งองค์การอนามัยโรค (WHO) ได้แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
ชนิดที่ 1 Hypogonadotropic hypogonadal anovulation - พบได้ในคนที่มีภาวะดังต่อไปนี้ เช่น
น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์มากๆ มีปัญหาการกินอาหารที่น้อยกว่าปกติ ภาวะเครียด หรือกลุ่มที่ออกกำลังกายมากจนเกินไป
ชนิดที่ 2 Normogonadotropic normoestrogenic anovulation - กลุ่มนี้พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ ภาวะ polycystic ovary syndrome หรือ PCOS มักจะมาด้วยอาการประจำเดือนมาช้าหลายครั้งที่ 2-3 เดือนมา ครั้งนึง บางรายมีน้ำหนักเกิน เป็นสิวหน้ามันง่าย มีขนดกขึ้นตามแขนและขา
ชนิดที่ 3 Hypergonadotropic hypoestrogenic anovulatio.- กลุ่มนี้คือกลุ่มที่มีรังไข่เสื่อมก่อนวัยอันควร ประจำเดือนหมดเร็วกว่าปกติ ที่พบชัดๆคือกลุ่มที่เข้าวัยทองก่อนอายุ 40 ปี แต่บางรายที่มีอาการเร็วคืออยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์คืออายุ 20-30 ปีแต่ประจำเดือนหมดแล้ว กลุ่มนี้มักมีปัจจัยทางด้านพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง
กลุ่มที่ใช้วิธีการกินยากระตุ้นไข่ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ 2 มักเริ่มด้วยการกินยากระตุ้นไข่ในช่วงแรกของการมีประจำเดือน มักจะกินยาเป็นเวลา 5 วัน ทั้งนี้จะหวังผลให้อย่างน้อยมีฟองไข่โตขึ้นให้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด มากสุดไม่เกิน 2-3 ใบ แล้วหลังจากนั้นจะทำการกระตุ้นให้ไข่ตกเรียกวิธีนี้ว่า OVulation Induction สำหรับข้อดีของยากินคือ ใช้ง่าย มีผลข้างเคียงน้อย และราคาไม่แพง สวนข้อเสียคือในบางรายอาจไม่ตอบสนองต่อยากิน ทำให้ไข่ไม่โตตามที่ต้องการ โดยเฉพาะในรายที่มีปัญหาไม่มีประจำเดือนมานานๆ
กลุ่มที่ใช้วิธีการฉีดยากระตุ้นไข่ อาจใช้ได้ในกลุ่มที่มีภาวะไข่ไม่ตกชนิดที่ 1 และกลุ่มที่ 2 PCOS ที่ได้กินยากระตุ้นไข่แล้วไม่ได้ผล ทั้งนี้ยาที่ฉีดจะเป็นยาที่ออกฤทธิ์เหมือน Gonadotroph in ได้แก่ฮอร์โมน FSH และ LH ที่ออกมาจากต่อมใต้สมองส่วนหน้ามากระตุ้นที่รังไข่ทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้ฟองไข่ภายนั้นเจริญเติบโต ทั้งนี้ขนาดและปริมาณยาที่ใช้จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ว่าจะตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติหรือทำเด็กหลอดแก้วตามข้อบ่งชี้ สำหรับข้อดีของยาฉีด คือไข่มักจะโตตามที่ต้องการ หวังผลได้ค่อนข้างมาก แต่ข้อเสียก็มีได้แก่ มีข้อบ่งห้ามที่ต้องคัดกรองก่อนฉีดยา ยาต้องฉีดทุกวันอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตรงตำแหน่งที่ฉีดได้ การฉีดต้องฉีดให้ถูกวิธี และราคาแพงกว่ายากิน
ทั้งนี้ การกระตุ้นไข่ไม่ว่าจะเป็นยาฉีดหรือยากิน มักมีข้อจำกัดในการใช้ และอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง จึงมีความจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และมีภาวะแทรกซ้อนให้น้อยที่สุด
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.ธนิก โชคจิรวัฒน์ แพทย์เฉพาะทางด้านสูติศาสตร์นรีเวชกรรมเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
ศูนย์เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.ธนิก โชคจิรวัฒน์ แพทย์เฉพาะทางด้านสูติศาสตร์นรีเวชกรรมเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
ศูนย์เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1745